ประเพณีบุญโขลกแป้งขนมจีน ประเพณีอันดีงามของคนชุมชนสามง่าม วัดสว่างอารมณ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
ประเพณีบุญโขลกแป้งขนมจีน เป็นประเพณีงานบุญของท้องถิ่นที่อยู่คู่กับชุมชนตำบลสามง่าม อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มาเป็นเวลาอันยาวนานกว่า 80 ปี
โดยในอดีตวัดสว่างอารมณ์ ตำบลสามง่ามเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำน้อยซึ่งเป็น 1 ในแม่น้ำสองสายหลักของจังหวัดอ่างทอง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยในปี พ.ศ. 2485 ทางวัดสว่างอารมณ์ ได้จัดเรือออกเรี่ยไรข้าวสารเพื่อนำมาหุงหาเลี้ยงพระเณรซึ่งมาเรียนพระปริยัติธรรมที่วัด แต่ละปีมีจำนวนมาก แต่ในปีนั้นเรือข้าวเกิดล่มและจำเพาะมาล่มเอาเมื่ออยู่หน้าวัดนั่นเอง ข้าวสารที่ได้มาเปียกน้ำเสียหายหมดจะเอามาหุงเป็นข้าวสวยให้หมดก็เป็นไปไม่ได้
หลวงพ่อพุฒ จันทโชโต เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นพระเถระที่ชาวบ้านให้ความนับถือศรัทธา ดำริว่าไหน ๆ ข้าวสารก็เปียกน้ำไปแล้ว ทั้งพระทั้งฆารวาสก็คงอยู่ในอารมณ์เศร้าใจกับความเสียหายใหญ่โตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ท่านจึงบัญชาด้วยสติสัมปชัญญะสมณวิสัยของท่าน ที่จะดัดแปลงเอาของเสียในรูปแบบหนึ่งมาทำให้เป็นของดีอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ท่านให้เอาข้าวสารเปียก ๆ เหล่านี้มายับน้ำแล้วโขลกเป็นแป้งขนมจีน วิธีนี้ข้าวจะเปียกนานเท่าใดก็ไม่เป็นไร งานประเพณีบุญโขลกแป้งขนมจีนก็เริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แต่เนื่องจากเป็นงานใหญ่ ต้องอาศัยแรงคนจำนวนมาก ประกอบกับในขณะนั้นมีชาวบ้านบางหมู่ที่ไม่ถูกกัน ท่านจึงป่าวประกาศขอแรงชาวบ้านทุกคน ทุกหมู่ในละแวกนั้นให้มาทำงานร่วมกัน คำขอร้องนี้ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่จากคนที่เคยโกรธกันก็หันหน้าเข้าหาพูดคุยกัน เพราะเหตุแงการโขลกแป้งขนมจีนร่วมกันนี่เอง
ปริมาณแป้งขนมจีนที่มีมากนี่เองทำให้เกิดความคิดต่อเนื่องที่จะนิมนต์พระคุณเจ้าและสามเณรต่างวัดให้เดินทางมาฉันท์ขนมจีนฉลองศรัทธาแรงสามัคคีของญาติโยม ประเพณีนี้จึงกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่นั้น แม้หลวงพ่อพุฒท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม
ทุกปีในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 จึงถูกกำหนดให้เป็น วันงานบุญโขลกแป้งขนมจีน วัดจะคึกคักไปด้วยผู้คน และหลังจากเลี้ยงอาหารที่มีขนมจีนเป็นหลักแล้ว อาหารที่ถวายหน้ารูปถ่ายหลวงพ่อพุฒก็จะต้องถูกนำมาเททิ้งลงแม่น้ำน้อยหน้าวัด เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เรือข้าวล่มครั้งนั้น หรือเพื่อเซ่นสังเวยผีน้ำผีท่าก็อาจเป็นไปได้ หรืออาจจะเห็นว่าเมื่อทำบุญแล้วก็ต้องให้ทานแก่สัตว์น้อยใหญ่ในลำคลอง
ภาพ / เรื่อง
เพจที่นี่อ่างทอง
เป็นประเพณีที่น่าสืบสานต่อในทุกๆปีนะคะ
ตอบลบ