วัดราชปักษี (วัดนก) ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง


วัดราชปักษี ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านนก ถนนอยุธยา – อ่างทอง หมู่ที่ 5 ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออก เดิมชื่อ “วัดนก” สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา 





ต่อมากลายสภาพเป็นวัดร้าง จนกระทั่งปี พ.ศ.2410 จึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 และได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดนก มาเป็น วัดราชปักษี ผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต พ.ศ.2518 สมัย พระอาจารย์เชื้อ โชติโก (รักษาการแทนเจ้าอาวาส) โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พระนามเดิม วาสน์ ฉายา วาสะโน เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 18 แห่งรัตนโกสินทร์ ได้เป็นประธานผูกพัธสีมาฝังลูกนิมิต


 
วัดราชปักษี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน โฉนดที่ดินเลขที่ 10322 , 4499 อาณาเขต ทิศเหนือ ติดบ้านประชาชน ทิศใต้ ติดบ้านประชาชน ทิศตะวันออก ติดถนนสาย 309อยุธยา – อ่างทองทิศตะวันตก ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่ จากอ่างทองถึงวัดราชปักษี (นก กม.6) อยุธยาถึงวัดราชปักษี 29 กม.



การบริหารและปกครอง โดยมีลำดับเจ้าอาวาส ดังนี้

1.หลวงพ่อยิ้ม 2. หลวงพ่อกาญจน์ กาญฺจโน เมื่อปีพ.ศ. 2465 - 2489

 
3.พระครูสรวุฒาจารย์ (พระครูใบฎีกาโปรย เมธสโร) เมื่อปีพ.ศ. 2489 - 2516 (พระอุปัชฌาย์)

4.พระอาจารย์เชื้อ โชติโก เมื่อปีพ.ศ. 2516 - 2523 (รักษาการเจ้าอาวาส)

5.พระครูสรกิจวิจารณ์ (สำเนียง สีลสาโร) เมื่อปีพ.ศ. 2523 - 2532

 
6.พระครูสถิตวรธรรม (พระครูสังฆะรักษ์ อดิศักดิ์ ฉายา อจลธมฺโม) เมื่อปีพ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน เป็นเจ้าคณะตำบลบางแก้ว -เป็นพระอุปัชฌาย์ -เป็นพระธรรมทูต -เป็นพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา -เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนตำบลโพสะ (อปต.) -เป็นพระธรรมทูตดีเด่นประจำจังหวัดอ่างทอง



ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ "พระพุทธไสยาสน์" องค์ใหญ่มองเห็นเด่นชัด ประดิษฐานในพระวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ราวปีพุทธศักราช 2400 - 2420 องค์พระขนาดเกือบเท่าพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร ที่อำเภอป่าโมก ความงานอาจน้อยกว่าเล็กน้อย ความยาวขององค์พระรวมพระเกตุ ยาว 18 เมตร ความสูงพระเกตุถึงพระอุระ สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งแต่พระอุระถึงพระบาทยาวมา สูงประมาณ 2.5 เมตร พ.ศ.2532 ได้เปลี่ยนหลังคาวิหารเป็นทรงไทยมีช่อฟ้าใบระกาเมื่อก่อนเป็นกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบหลังคาเป็นทรงไทยโบราณไม่มีปั้นลม 


พระพักตร์ -พระเศียร พระเกตุ พระเนตร พระเกล้า ก็เปลี่ยนใหม่ (เพราะของเก่าชำรุด) โดยมีการบูรณะปฎิสังขรขึ้นมาใหม่ ในสมัยพระครูสถิตวรธรรม เป็นพระครูสังฆรักษ์ พ.ศ.2532


นักเขียนนามว่า น.ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงไว้ในเรื่องไปดูพระนอนที่อ่างทอง ในวารสารรถไฟตอนหนึ่งว่าสำหรับในท้องที่จังหวัดอ่างทองนี้เข้าใจว่ามีพระนอนอยู่หลายองค์ เท่าที่เคยผ่านตามา มีอยู่อีกองค์หนึ่ง ที่วัดราชปักษี เป็นพระนอนขนาดเดียวกันกับวัดป่าโมกวรวิหาร หันพระพักตร์ด้านทิศเหนือ องค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก ทางวัดได้มุงหลังคาครอบไว้ ด้วยผนังวิหารเดิมแตกทำลายไปหมดแล้ว แม้แต่องค์พระเองก็พรุนมองไม้เห็นปูนฉาบผิว นอกจากเนื้ออิฐที่เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่ก็เป็นประโยชน์ด้วยทำให้เห็นโครงสร้างคืออิฐเป็นองค์พระ นับว่าเป็นคุณค่าสำหรับพวกช่างโดยเฉพาะ

 
แต่ส่วนองค์และเสาวิหารทางกรมศิลปากรให้คงไว้ (สมัยท่านสดสีเอียด เป็นผอ.กรมศิลปากรจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาสำรวจ และแนะนำให้อนุรักษไว้เพื่อการศึกษาของชนรุ่นหลัง ต่อไป



"พระรอดวชิรโมลี" ปางมารวิชัย พระพุทธรูปชนิดก่ออิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร สูง 4.5 เมตร สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ 2163 สมัยพระเจ้าทรงธรรม ครั้งกรุงศรีอยุธยา อายุราว 388 ปี เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคู่กับอุโบสถหลังเก่า มีวิหารครอบอยู่ ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง โบสถ์กับวิหารพังลงน้ำไป แต่ปรากฏว่าองค์หลวงพ่อไม่ได้พังลงไปด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 เจ้าอาวาสในสมัยนั้นคือ หลวงพ่อโปรย ธมสาโร และพระครูวิเชียร ธรรมโกวิท พร้อมกับชาวบ้านช่วยกันเลื่อนมาอยู่คู่กับพระอุโบสถ และวิหารหลวงพ่อพระนอน จึงได้สร้างวิหารครอบไว้ 


กาลเวลาล่วงมาวิหารเพิ่มทรุดโทรมองค์หลวงพ่อชำรุด จึงได้มีการก่อสร้างวิหารใหม่ ยกสูงขึ้นให้พ้นจากน้ำท่วม ต่อมาเมื่อใกล้ด้วยเหตุที่ผ่านอุปสรรคทั้งหลายมาได้ อย่างราบรื่นตลอดมา จึงพร้อมใจกันถวายพระนามนิมิตว่า "พระรอดวชิรโมลี" เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ตลอดกาล 5,000 พรรษา


วิหารหลวงพ่อรอด (หลังใหม่) สร้างเมื่อปี พ.ศ.2551 โดย พระครูสถิตวรธรรม (เจ้าอาวาสวัดราชปักษี) เจ้าคณะตำบลบางแก้ว เป็นผู้ดำเนินการสร้างใหม่ เป็นอาคารทรงไทย มีช่อฟ้า หน้าบัน คันทวน ช่อฟ้าหน้าบัน ประดับกระจก ทาสีทอง หลังคาสองรด หน้ากว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร 


อาคารเสนาสนะในวัดราชปักษี ประกอบด้วย

 

พระอุโบสถ สร้างเมื่อพ.ศ. 2490 กว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก และเมื่อปี พ.ศ.2518 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังปริณายก พระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธานตัดหวายลูกนิมิต

 
ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อพ.ศ. 2470 เป็นอาคารไม้สักทรงไทยโบราณ ชั้นเดียวใต้ถุนโล่ง มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน กว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร
 

หอสวดมนต์ สร้างเมื่อพ.ศ. 2525 เป็นอาคารไม้คอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร

 

กุฏิสงฆ์ จำนวน 9 หลัง เป็นอาคารไม้ 8 หลังอาคารเสริมคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง

วิหาร สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2450 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร

ศาลาอเนกประสงค์ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2547 เป็นอาคารไม้คอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 8 เมตรยาว 10 เมตร

ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

 
นอกจากนี้ ฌาปนสถาน 1 หลัง หอระฆัง 1 หลัง โรงครัว 1 หลัง เรียนเก็บพัสดุ 1 หลัง

 โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดราชปักษี ได้แก่


ธรรมมาสบุษบก (สมัยกรุงรัตนโกสินทร์) บนศาลาการเปรียญ 1 หลัง กรมศิลปะปากรอนุรักษ์ขึ้นทะเบียนไว้ ซ่อมบำรุง ปี พ.ศ.2549


ธรรมมาสสำหรับพระเทศน์ (สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ) เก็บไว้ที่กุฎิพระ (หารูปประกอบ) กรมศิลปะปากรไม่อนุญาตให้บูรณะ


พระพุทธรูปปางมารวิชัยทองเหลือง ผสมเกตุเปลวเพลิง (สมัยอยุธยาตอนต้น) เก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส ทางกรมศิลปปากรไม่อนุญาตให้บูรณะ เหตุเพราะเกรงว่าจะผิดไปจากรูปองค์เดิมจะเหมือนของใหม่


เรือดาวเรืองรัศมี ... เป็นเรือไม้ตะเคียน พระครูสถิตวรธรรม (เจ้าอาวาสวัดราชปักษี) ได้เขียนประวัติตามคำบอกเล่าของชาวบ้านวัดราชปักษี (วัดนก) ว่า ได้มีผู้ที่มีจิตศรัทธานำมาถวาย ในสมัยหลวงพ่อกาญน์ กาญฺจโน เป็นเจ้าอาวาส บอกไว้เพียงว่า เรือลำนี้เป็นเรือแซง หรือ รอบนอกเรือพระที่นั่งรัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จขบวนทางชลมารค) เรียกอีกอย่างคือ เรือคุ้มกัน เรือขบวนเสด็จฯ ต่อมาปลดระวาง เก็บเรือขึ้นคานไว้ที่อำเภอ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร


เหตุที่ตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า ดาวเรืองรัศมี เพราะหลวงพ่อท่านได้นั่งสมาธิสวดมนต์พร้อมพระสงฆ์ในวัด ปรากฏในนิมิตหลวงพ่อ เห็นมีแม่ย่านางเป็นผู้หญิงผมยาวแต่งชุดไทย

ต่อมาประชาชนชาววัดราชปักษี พร้อมคณะสงฆ์ในสมัยนั้นจึงพร้อมใจกันปรับปรุงเป็นเรือดาวเรืองรัศมี ให้เป็นแข่งเรือใหญ่ขนาดกลาง เพราะเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี จะมีประเพณีแข่งเรือในเทศกาลออกพรรษา ถ้าแข่งที่ไหนต้องมีขวานติดโขลนเรือไปพร้อมน้ำ และมะพร้าวอ่อนด้วย ตามความเชื่อ และคำบอกเล่าของนายหัวเรือ นายท้ายเรือ และฝีพาย นิยมเรียกเรือดาวเรืองรัศมีว่า เรือขวาน เพราะถ้ายกขวานขึ้น เหมือนเรือคู่แข่งจะอ่อนแรงลง เรือดาวเรืองรัศมีแข่งชนะเลิศมาหลายสนาม ได้รับถ้วยรางวัลเป็นจำนวนมาก จนวันนี้ได้นำมาเก็บรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้มาศึกษาต่อไป


และเมื่อปีพ.ศ. 2535 เจ้าอาวาส พร้อมกับชาวบ้าน ได้สร้าง ศาลาการเปรียญใหม่อีก 1 หลังเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย 2 ชั้นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน คันทวย หน้ากว้าง 24 เมตร ความยาว 48 เมตร มีพระประธานพระนาม สมเด็จพระพุทธโรจนรังษี (สร้างเมื่อปี พ.ศ.2537) ถายในมีลวดลายจิตกรรมฝาผนัง เกี่ยวข้องกับ พุทธประวัติ และเรื่องราวของ นรก สวรรค์




นอกจากนั้นในพื้นที่ของศาลาการเปรียญหลังใหม่นี้ จะเป็นประกอบพิธีทางศาสนาของวัดราชปักษีมาตลอดจนถึงทุกวันนี้


และในปี พ.ศ. 2549 สร้างซุ้มประตูทางเข้าวัด ถวายพระราชกุศลครองราชย์ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ความกว้าง 5 เมตร ความสูงตั้งแต่พื้นจนถึงยอดบุษบก 18 เมตร เป็นทรงไทยจตุรมุขสามรด



การศึกษามี โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปีพุทธศักราช 2489 นอกจากนี้มีการปฏิบัติธรรมแสดงพระธรรมเทศนา วันธรรมะสวนะ ตลอดในวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนาตลอดทั้งปี


ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ การเดินทางได้ที่

พระสมุห์วัชรินทร์ ธมฺมวโร
(เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอ่างทอง)
090 - 954 8155 

ผู้สนับสนุน
พ่อเสนาะ - แม่จำรัส พูลใจ พร้อมบุตร - ธิดา

ความคิดเห็น