"ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล" ... หนึ่งเดียวในจังหวัดอ่างทอง

 

"ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล" ... เป็นประเพณีที่ชาวตำบลบางเสด็จ ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี แต่เดิมการก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหล นิยมก่อพระเจดีย์ทรายหน้าวัดท่าสุทธาวาส แล้วขนทรายมาในวัดเพื่อเป็นประโยชน์ในการก่อสร้างศาสนสถานประจำวัด แต่ในปัจจุบันประเพณีการก่อพระทรายน้ำไหลได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

องค์การบริหารส่วนตำบลบางเสด็จ ในฐานะองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มีอำนาจและหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม บำรุง รักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานประเพณีตังกล่าว จึงได้กำหนดจัดงาน "ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล" ขึ้นประจำช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี

ประเพณีทำบุญวันสงกรานต์การก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหล ของชาวบ้านในพื้นที่ ต.บางเสด็จ ถือเป็นกิจกรรมทางศาสนาอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านจะใช้กิจกรรมนี้ขนทรายเข้าวัดเพื่อนำไปก่อพระเจดีย์ทราย และเป็นการทำบุญไปด้วยในตัว แต่สิ่งที่พิเศษของบริเวณท่าน้ำวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้ จะมีจุดเด่นคือในช่วงฤดูหน้าแล้งน้ำจะน้อย จึงทำให้เกิดมีหาดทรายเป็นแนวยาว และมีทรายจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้จัดกิจกรรมการก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว และรักษาประเพณีดั้งเดิมของชาวบางเสด็จเอาไว้



จึงได้เรียกประเพณีนี้ว่าการ “ก่อพระเจดีย์ทรายน้ำไหล” ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปีช่วงระหว่างเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดเป็นเวลานาน และเป็นเทศกาลรวมญาติพี่น้องของแต่ละครอบครัว จึงร่วมกันทำบุญ และทำกิจกรรมร่วมกัน พร้อมทั้งมีการละเล่นแบบโบราณ การรำกลองยาวรอบพระเจดีย์ทรายที่ชาวบ้านช่วยการก่อสร้างขึ้น โดยใช้กลองยาวซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ผลิตขึ้นเองโดยใช้คนในหมู่บ้าน ทั้งเยาวชนที่ได้รับการฝึกฝนมาร่วมแสดงความสามารถร่วมกับผู้ใหญ่ จึงทำให้สนุกสนานตามวิถีชาวบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์สืบไป


โดยจัดให้มีกิจกรรมพิธีสวดมนต์เย็น ณ พลับพลาริมน้ำ กิจกรรมการแสดงรำโทนและเพลงเรือ กิจกรรมรำวงฉลองพระเจดีย์ทราย กิจกรรมการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย และกิจกรรมประกวดหนูน้อยพระทรายน้ำไหล เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนและเป็นการอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม


ขอขอบคุณภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง

ความคิดเห็น