ที่นี่อ่างทอง l บวร On tour บ้านตาลเหนือ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

 

เพจ ที่นี่อ่างทอง ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง จะพามาเที่ยวในโครงการ บวร On tour บ้านวัดตาลเหนือ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายอย่างชุมชนคุณธรรมบ้านวัดตาลเหนือ หมู่ที่ 2 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ

ในด้าน “เสน่ห์ดินเหนียวปั้น สู่งานหัตถศิลป์บ้านทรงไทยจำลอง” มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดก
สืบทอดที่สั่งสมความรู้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชรวมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

วัดท่าสุทราวาส


ศูนย์รวมจิตใจของบ้านวัดตาลเหนือ คือ วัดท่าสุทธาวาส แห่งนี้ ที่รวมกิจกรรมทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยเฉพาะประเพณีโบราณ ก่อพระทรายน้ำไหล ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี และการละเล่นเพลงพื้นบ้านโดยถ่ายทอดองค์ความรู้เพลงพื้นบ้านมาจากพ่อเพลง ครูมังกร โดยประสานพลังกับหน่วยงานทุกระดับชั้น 



จุดเด่นของวัดแห่งนี้ก็คือรมณฑปหลวงพ่อโตและชมภายในอุโบสถที่มีจิตกรรมฝาผนังเป็นภาพเล่าเรื่องราวของพระมหาชนกภาพเล่าเรื่องราวของจังหวัดอ่างทอง และพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่มีต่อพสกนิกรของตำบลบางเสด็จ และยังมีจัดเด่นอีกจุดหนึ่งคือตั้งอยู่ด้านข้างของอุโบสถเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระกนิษฐาเจ้ากรมสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จประทับพักอริยาบถ เมื่อเสด็จเยี่ยมประชาชน ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง



ด้านซ้ายมือของโบสถ์ มีพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๔๘ พรรษา ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ภายในบรรจุพระบรมสารีริธาตุ 
ซึ่งพระมหาธาตุเจดีย์มีความสวยงามโด่ดเด่น



ศูนย์ตุ๊กตาชาววัง ในพระบรมราชินยานุเคราะห์



ไฮไลท์ของที่นี้ คือ ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ที่ชื่อของ “ชุมชนคุณธรรมบ้านวัดตาลเหนือ” เป็นที่ขนานนามถึงงานหัตถศิลป์ ที่ยิ่งใหญ่ งดงาม อ่อนช้อย และ ประณีต ไม่ว่าจะเป็นงานดินปั่น “ตุ๊กตาชาววัง”
ที่จำลองวิถีชีวิตไทย การละเล่นไทย ผ่านตุ๊กตาดินเหนียวแต้มสีสัน สวยงาม



ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ในพระบรมราชินยานุเคราะห์ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่บริเวณวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ตำบลนี้เดิมชื่อ บ้านวัดตาล ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ




ศูนย์ตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังสามารถชมการปั้นตุ๊กตาชาววังที่สวยงามจากบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังพร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา



ตุ๊กตาชาววังทำจากดินเหนียวแสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและ วัฒนธรรมประเพณีไทยต่าง ๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ สุภาษิตคำพังเพยไทย หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิดซึ่งล้วนมีความสวยงามน่ารักและเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง



เส้นทางเดินทัพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังบ้านป่าโมก ก่อนออก


บ้านมวยคาดเชือก


สถานที่ต่อมาที่อยากแนะนำคือ บ้านตุ๊กตามวยคาดเชือก ผู้ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตามวยไทย เรซิ่น แห่งเดียวของจังหวัดอ่างทอง โดย อ.บัณฑิต โกศลสิทธิ์ ผู้ที่รักและชื่นชอบศิลปะการต่อสู้มวยไทย จนมาเป็นอาชีพที่สร้างชื่อเสียงในวงการมวยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 



อ.บัณฑิต เล่าให้ฟังว่า ตุ๊กตามวยคาดเชือก เป็นการต่อยอดศิลปะการปั้นงานตุ๊กตาชาววังที่คุณแม่ได้สอนไว้ และด้วยที่ตนจบจากวิทยาลัยเพาะช่างที่ได้เรียนรู้ถึงสัดส่วนของมนุษย์อย่างถูกต้อง และใจที่ชื่นชอบในศิลปะแม่ไม้มวยไทย จึงได้รวมกันเป็นงาน ตุ๊กตามมวยคาดเชือก ที่มีความสมจริงทั้งท่าทาง การแสดงออกของสีหน้านักมวย


ตุ๊กตามวยคาดเชือก พัฒนามาจากตุ๊กตาดินปั้นเรซิ่น เพื่อความแข็งแรงคงทนไม่แตกหักง่าย มีพื้นฐานมาจากงานตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ของชาวอ.ป่าโมก ที่ถ่ายทอดกันมาสู่ปัจจุบัน



หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ บ้านตุ๊กตามวยคาดเชือก อ.บัณฑิต 087 - 900 8081 , 035 868 351

บ้านมีดตามใจฝัน


"บ้านมีดตามใจฝัน" โรงมีดโบราณจากช่างหนุ่มอดีตนักส่งออกเสื้อผ้า  เป็นบ้านมีดโบราณซึ่งซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบ้านบางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เกิดจากความรักและความหลงไหลของ บรรจง เหมทอง หรือที่ในวงการมีดรู้จักกันในนามของ ช่างโจ หนุ่มที่ทิ้งอาชีพหลักด้วยการเดินทางตามหามีดโบราณที่มีคุณภาพ



พี่โจ ถือเป็นช่างมีดรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจเรื่องการจัดการคุณภาพเหล็กเป็นอันดับแรก ในทุกชนิดมีดและทุกราคา พร้อมทั้งเน้นเรื่องวัตถุประสงค์ในการใช้งานมีดในแต่ละประเภทเป็นหลัก มีความยืดหยุ่นในการใช้และจัดการเหล็กทำมีดให้ได้คุณภาพสูง ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและจัดการตามหลักโลหะวิทยา 



มีความสนใจและแสวงหาความรู้ด้านการทำมีดเพิ่มเติมอยู่เสมอจากบุคคลที่มีความรู้ในด้านต่างๆเกี่ยวกับมีด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลหะวิทยา ฟังชั่นของมีดในการใช้งาน การจับถือน้ำหนักบาลานซ์ ภาพรวมของมีดแต่ละชนิด เป็นต้น สามารถทำมีดใช้งานพื้นบ้าน มีดใช้งานแบบสากล และมีดแบบงานคัสตอม ที่มีคุณภาพสูงตามแต่ละชนิดเหล็กได้ดี



นอกจากการตีมีดขายในราคาตั้งแต่มีดธรรมดาในราคา 350 บาทแล้ว มีดที่เป็นไฮเอนด์ที่มีราคากว่าหมื่นบาทและมีออเดอร์สั่งซื้อมากมายจนโด่งดัง โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาหาความรู้ได้จากเฟซบุ๊ก มีดช่างโจ (jo knife maker) หรือสามารถเดินทางไปหาได้ที่โรงมีดตามใจฝันหรือถ้าไปไม่ถูก สามารถโทรไปสอบถามเส้นทางได้ที่ 098-265-5721

กลุ่มผลิตบ้านเรือนไทย ไม้สัก


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทรงไทยจำลอง (ไม้สักทอง) หมู่ที่ 6 ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง นางสาวนิศรา พงษ์พิพัฒน์ อายุ 42 ปี อดีตสาวโรงงานที่ผันตัวมาประดิษฐ์เป็นบ้านทรงไทยจำลอง ที่มีสัดส่วนเทียบเท่าของจริง รวมถึงส่วนประกอบ โครงสร้างของบ้านทรงไทยเหมือนของจริงทุกชิ้น 



ซึ่งแต่ละชิ้นใช้เศษไม้สักทองนำมาตัดแต่งจนได้รูปก่อนนำประกอบขึ้นเป็นส่วนต่างๆ ของบ้านเช่น ฝาเฟี้ยม จั่ว หลังงคา ซึ่งเมื่อเสร็จออกมาก็เป็นบ้านทรงไทยที่สวยงาม และเมื่อมีการนำตุ๊กตาชาววังซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปในชุมชนมาประกอบกับกลุ่มเรือนไทยทำให้สื่อถึงวิถีชนบทชาวบ้านในภาคกลางได่อย่างสมบูรณ์





พัฒนาสู่การทำบ้านทรงไทยจำลอง ก่อนนำออกจำหน่ายจนมีลูกค้าเป็นกลุ่มที่เป็นช่างรับสร้างบ้านทรงไทยมาติดต่อให้สร้างเป็นโมเดลในการรับสร้างบ้าน ซึ่งบ้านแต่ละหลังสามารถนำไปให้ลูกค้าดูและสร้างตามแบบได้ทันทีเพราะมีมาตราส่วนที่ถูกต้อง ไม่ว่าว่าจะเป็นขนาด 1:100 , 1:75 ,1:45 ซึ่งช่างบ้านทรงไทยสมัยโบราณจะดูแบบบ้านจากพิมพ์เขียวไม่เป็นและเจ้าของบ้านก็ไม่เห็นรูปแบบของบ้าน โดยแต่ละหลังต้องใช้เวลาในการทำประมาณ 7-10 วัน เนื่องจากรายละเอียดต้องถูกต้องตามจริงทั้งหมด วัสดุที่นำมาใช้เป็นไม้สักทอง รวมถึงนำตุ๊กตาชาววังมาจัดรูปแบบให้สวยงามมีชีวิตชีวาเหมือนจริงอีกด้วย ส่วนราคามีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลายหมื่นบาทขึ้นอยู่กับแบบและความต้องการของลูกค้า



นอกจากบ้านทรงไทยจิ๋วจำลองแล้ว เรายังทำเฟอร์นิเจอร์โบราณจิ๋ว เช่นตู้เสื้อผ้าโบราณ ชุดเก้าอี้โบราณจิ๋วออกจำหน่าย และยังขยายทำศาลพระภูมิไม้สัก ซึ่งได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้จนมีลูกค้าจากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาสั่งทำเป็นจำนวนมาก โดยทางกลุ่มได้รับการคัดสรรเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โอทอป ระดับ 5 ดาวสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

ร้านกาแฟเมืองกระบี่ บ้านตาลเหนือ


ร้านกาแฟเล็กๆ ที่เน้นเมล็ดกาแฟโรบัสต้า จากจังหวัดกะบี่ ที่อากาศดี ดินดี จนทำให้รสชาติของกาแฟที่ชงออกมาอร่อย เข้มข้น จนต้องติดใจมาทานตลอดแน่นอน









โฮมสเตย์บ้านเรือนไทยร้อยเสา


โฮมสเตย์ที่ไม่เหมือนใครของบ้านวัดตาลเหนือ ที่เป็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ รับรองมาตรฐานโฮมสเตย์จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สามารถรับรองได้ 20 - 30 คน แบบสบายๆ เพียงคนละ 250 บาท เท่านั้นเอง 



นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมของเก่าต่างๆ ที่พี่ไพโรจน์ ได้สะสมและดูแลต่อมาจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเฟอนิเจอร์ไม้สัก เครื่องครัว จาน ชาม ที่สวยงามหาชมได้ยาก





แพพักบ้านบางเสด็จ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา


ที่พักแพริมน้ำเจ้าพระยา ที่บ้านปะขาวแห่งนี้ ได้ร่วมกลุ่มพัฒนาเป็นที่พักที่ได้รับมาตรฐานทั้งในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของที่พัก นักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อนกันแบบครอบครัว ตกปลา และนำมาทำเป็นอาหารได้ ขับรถจากกรุงเทพฯ เพียง 1 ชั่วโมง ก็สามารถมาสัมผัสชีวิตคนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บ้านปะขาว ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง








นักท่องเที่ยวท่านใด สนใจอยากมาเที่ยวในโครงการ บวร on tour บ้านตาลเหนือ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ... 

ผู้ประสานงานชุมชน

นายนาวี สุปันนี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

โทรศัพท์ 086-1301049

นางสาวพัชรี โชติช่วง ปราชญ์ชาวบ้าน ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

โทรศัพท์ 089-0869270

ความคิดเห็น