เส้นทางไหว้พระใหญ่ 9 วัด ณ อ่างทอง


วัดม่วง (อ.วิเศษชัยชาญ)
เขาเล่าว่า ท่านจะประทานพรให้ตำแหน่งหน้าที่การงาน กิจการเจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโต

ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวสะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ เดิมทีเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2230 แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยได้เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า พม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือซากปรักหักพังของวัดวาอารามและพระพุทธรูปที่อยู่บนเนินมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2534 ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ได้ร่วมพลังจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้สมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า "พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ" มีหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร
--------------------


วัดขุนอินทประมูล (อ.โพธิ์ทอง)
เขาเล่าว่า ท่านจะประทานพร ให้มีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัย

ตั้งอยู่ในเขตตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการ

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป และในศาลาอเนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลแต่บ้างก็ว่าไม่ใช่
--------------------


วัดจันทรังษี (อ.เมืองอ่างทอง) 
เขาเล่าว่า ท่านจะประทานพรให้สุขภาพสดใส

ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง มีพื้นที่สองฝั่งถนน ฝั่งทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโยก" และฝั่งตะวันตกของถนนเป็นที่ตั้งของ พระมหาวิหารจัตุรมุขพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างด้วยโลหะปิดทองคำเหลืองอร่ามทั้งองค์มีความงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9.9 เมตร เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2539 สร้างโดยพระธรรมรัตนากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นผู้จุดประกายการก่อสร้าง นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างองค์สมมุติพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิม ปางพันมือ สี่หน้า สูง 5 เมตร 8 นิ้ว แกะสลักจากไม้หอมขนาดใหญ่ จากประเทศจีน โดยได้อัญเชิญเข้ามาประเทศไทยประดิษฐาน ณ วัดจันทรังษี ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
--------------------


วัดต้นสน (อ.เมืองอ่างทอง)
พระประธานหล่อด้วยโลหะทองเหลืองขนาดใหญ่ที่สุด

ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 ถือเป็นวัดเก่าแก่โบราณ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะอุโบสถหลังเก่ามีบัวอ่อน คันทวย แต่ไม่มีจดหมายเหตุบันทึกไว้เป็นหลักฐาน มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันต่อ ๆ มา และได้ทรุดโทรมมาจนเกือบจะกลายสภาพเป็นวัดร้าง เพราะไม่มีปูชนียวัตถุแต่อย่างใด ต่อมาปี พ.ศ. 2488 พระราชสุวรรณโมลี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ได้ริเริ่มการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเนื้อที่ของวัดมีเพียง 14 ไร่เศษเท่านั้น ต่อมาก็ได้ขอซื้อที่ดินขยายที่ตั้งวัดออกมาเรื่อย ๆ ขอซื้อหลายครั้งจนได้เนื้อที่วัดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า "สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง" หรือเรียกชื่อย่อว่า "สมเด็จพระศรีเมืองทอง" ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง
--------------------


วัดป่าโมกวรวิหาร (อ.ป่าโมก)
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่มีพระพักตร์สวยที่สุด

ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก ภายในวัดมีพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ พงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการบูชาพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี "วิหารเขียน" ซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมีกษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น, มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย และหอไตร เป็นต้น
--------------------


วัดราชปักษี (อ.เมืองอ่างทอง)
พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่

อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) กิโลเมตรที่ 52-53 จากอำเภอเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 3-4 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่มีลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกแต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยา เดิมองค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างมากปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ และยังมีพระพุทธรูปสร้างสมัยพระเจ้าทรงธรรมราว พ.ศ. 2163 เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อใกล้จะพังลงน้ำ พระมหาวิเชียร ขันนาค พร้อมด้วยพุทธบริษัทได้ช่วยกันเลื่อนเข้ามาประดิษฐาน ไว้ ณ ที่ปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ. 2490 ต่อมาได้ชักชวนกันสร้างพระวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำการฉลองเมื่อปี พ.ศ.2502เพราะเหตุที่ผ่านอุปสรรคจากกิเลสมารตลอดรอดมาได้ อย่างราบรื่น จึงพร้อมใจกันถวาย พระนามนิมิตรว่า “ พระรอด วชิรโมลี ”
--------------------


วัดไชโยวรวิหาร (อ.ไชโย) 
พระมหาพุทธพิมพ์ปางสมาธิราบ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองสวยที่สุด

ตั้งอยู่ตำบลไชโย อำเภอไชโย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2433 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2430 เดิมทีเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีประวัติแน่ชัดว่าใครสร้าง แต่มาปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2400-2405 ซึ่งขณะนั้นท่านยังดำรงสมณศักดิ์พระเทพกวี

"พระมหาพุทธพิมพ์" หรือ "หลวงพ่อโต" แห่งวัดไชโย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 8 วา 7 นิ้ว ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตเป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่าผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากจะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระจะเห็นว่าหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับ
--------------------


วัดมหานาม (อ.ไชโย)
พระสังกัจจายน์ขนาดใหญ่ เจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และธาตุสาวก

เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระสังกัจจายน์ขนาดใหญ่ เหนือเศียรพระสังกัจจายน์ขึ้นไป บริเวณบนฉัตรสร้างเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และธาตุสาวก ภายในวัดยังมีหลวงพ่อขาว อายุร่วม 400 ปี ที่สร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พุทธศาสนิกชน นิยมกราบไหว้ขอพร และรำกลองยาวแก้บนและในบริเวณวัด กลุ่มจักสานบ้านมหานาม ตำบลไชยภูมิ
--------------------


วัดสี่ร้อย (อ.วิเศษชัยชาญ)
พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ อนุสรณ์ แห่งความรักชาติ วีรชนคนวิเศษชัยชาญ

อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 3454 กิโลเมตรที่ 31–32 (บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง -วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร) ชื่อตำบลสี่ร้อยและชื่อวัดเป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชู และชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2302 วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า หลวงพ่อโต หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า หลวงพ่อร้องไห้ เมื่อปีพ.ศ 2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทั้งชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงต่างหาโอกาสมานมัสการ หลวงพ่อร้องไห้ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

ความคิดเห็น